ประวัติความเป็นมาจังหวัดน่าน

แข่งเรือลือเลื่องเมืองงาช้างดำจิตรกรรมวัดภูมินทร์แดนดินส้มสีทองเรืองรองพระธาตุแช่แห้ง

น่าน...เมืองเก่าที่มีชีวิต

เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน

      1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดที่กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ “น่าน” จังหวัดเล็กๆทางภาคเหนือที่ยังคงไว้ซึ่งความน่ารักของบ้านเมืองผู้คนวิถีชีวิตศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงสุขภาพ เชิงเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะไม่พลาดที่จะไปเยือน

     จังหวัดน่านมีพื้นที่ 12,163.04 ตารางกิโลเมตรเป็น 1 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือประกอบไปด้วยแบ่งการปกครองออกเป็น 15 อำเภอ99 ตำบล 893 หมู่บ้านพื้นที่ 12,163.04 ตารางกิโลเมตรของน่านส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีประชากร 478,227 คนเป็นคนไทยและมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากมายได้แก่ม้งเมี่ยนขมุมลาบรีมูเซอไทลื้อไทพวนและไทยวนหรือคนเมืองอาศัยอยู่ร่วมกันโดยมีแม่น้ำน่านที่เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำ 8 สายเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตและผูกพันกับชาวน่านมายาวนานอีกทั้งแม่น้ำน่านยังเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในบรรดาต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวถึง 740 กิโลเมตร 45% ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ไปยังภาคกลางจึงมาจากแม่น้ำน่านนี้เอง

เมืองน่านเมื่อนานมา

       พงศาวดารเมืองน่านเล่าว่า ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พญาพูคาได้ครอบครองพื้นที่ราบตอนบนอยู่ที่เมืองย่าง (ปัจจุบันคือพื้นที่ ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน) วันหนึ่งพญาพูคาได้รับไข่นกสองฟองขนาดเท่าผลมะพร้าวจากพรานป่า จึงทรงเก็บรักษาไว้โดยแยกใส่กะทอ (ก๋วย) นุ่นและกะทอฝ้าย จากนั้นไข่ทั้งสองฟองก็ฟักออกมาเป็นทารก พญาพูคาจึงทรงรับเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรม ให้นามโอรสจากกะทอนุ่นว่า “ขุนนุ่น” และโอรสจากกะทอฝ้ายว่า “ขุนฟอง” เมื่อโอรสทั้งสองเจริญพระชันษาเป็นบุรุษจึงมีพระประสงค์จะครองบ้านเมือง พญาพูคาจึงโปรดให้ไปหาพญาเถรแต๋ง เจ้าฤๅษีที่ดอยติ้ว ดอยวาว (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.สองแคว จ.น่าน) เพื่อขอพระกรุณาโปรดสร้างเมืองให้ พญาเถรแต๋งพาไปสถานที่แห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง ใช้ไม้เท้าแบ่งเขตแดนแล้วให้ชื่อเมืองว่า “จันทบุรี” โปรดให้ขุนนุ่นเป็นกษัตริย์ปกครอง (ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ส่วนทางทิศตะวันออกฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พญาเถรแต๋งใช้ไม้เท้า

     แบ่งเขตแดนและให้ชื่อเมืองว่า “วรนคร (เมืองปัว)”แล้วโปรดให้ขุนฟองเป็นกษัตริย์ปกครอง (สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ราบแถบ ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน) ขุนฟองจึงถือเป็นกษัตริย์น่านองค์ที่ 1    

      หลังจากนั้นราวพ.ศ.1896 สมัยของพญาครานเมืองกษัตริย์น่านองค์ที่ 5 ได้สร้างพระธาตุแช่แห้งณดอยภูเพียงแช่แห้งเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทองที่ได้รับพระราชทานมาจากเจ้าเมืองสุโขทัยแล้วย้ายราชธานีมาสร้างเวียงใหม่ทางทิศใต้ของวรนครใกล้กับพระธาตุแช่แห้งเรียกว่า “เวียงพูเพียงแช่แห้ง”

     พ.ศ. 1906 สมัยของพญาผากองกษัตริย์น่านองค์ที่ 6 โอรสในพญาครานเมืองเวียงพูเพียงแช่แห้งประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนักพญาผากองทรงพระสุบินว่ามีโคอุศุภราชวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมายังฝั่งตะวันตก

ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ แล้วถ่ายมูลไว้เป็นแนวหลักหมายเขตกำแพงเมือง เมื่อพระองค์เสด็จ ณ ที่แห่งนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นจริงตามพระสุบินทุกประการ จึงทรงอพยพพลเมืองข้ามฝั่งแม่น้ำน่านมาสร้างราชธานีใหม่ที่ห้วยไคร้ (เขตเวียงใต้ของตัวเมืองน่านในปัจจุบัน) 

    ใน พ.ศ. 1911 และตั้งชื่อเมืองว่า “นันทบุรี” เพราะมีชีปะขาวชื่อ “นันทะ” อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองน่าน” ตราบจนปัจจุบัน เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำน่าน ขึ้นต่ออาณาจักรล้านนาและพม่า

    พระเจ้าติโลกราชยกทัพจากเชียงใหม่มาตีเมืองน่านในพ.ศ. 1993 สมัยของพญาอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์น่านองค์ที่ 15 เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้ากับเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองหนึ่งโดยมีเจ้าเมืองที่ได้รับแต่งตั้งผลัดเปลี่ยนกันปกครองเมืองเรื่อยมา 

จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี (พม่า) ตีเมืองเชียงใหม่ได้เมืองน่านจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของพม่าร่วม 200 ปี

    ราวพ.ศ. 2232 เมืองน่านถูกทิ้งร้างนาน 5 ปีเนื่องจากพระเมืองราชาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 47 ได้คิดคบกับลาวแสนแก้วแข็งเมืองต่อพม่าพระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ยกทัพมาปราบและเผาบ้านเมืองจนเสียหายอย่างหนักผู้คนล้มตายบางส่วนหลบหนีเข้าป่าจากนั้นอีก 1 ปีพวกลาวและแกว (ญวน) ก็เข้ามารุกรานเมืองน่านกวาดต้อนเอาชาวเมืองที่เหลือไปไว้เมืองลาวเมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างเป็นครั้งแรก

     พ.ศ. 2314 พญามโนเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 54 ได้ส่งเจ้าน้อยวิทูรเข้าช่วยราชการศึกร่วมกับกองทัพหัวเมืองล้านนานำโดยพญาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนสามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้และเมืองน่านก็ถูกทิ้งร้างอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2321 ในสมัยของพญาวิทูรเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 เนื่องจากถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยาเพราะไม่จงรักภักดีน่านจึงขาดผู้นำกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนจึงเข้ามารุกรานเมืองน่านและกวาดต้อนเอาชาวเมืองน่านไปไว้ที่เชียงแสนเมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างนาน 23 ปี สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์จักรี 

    ครั้นเมื่อพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีเจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญ (ขณะนั้นรั้งเมืองอยู่ที่เมืองเทิงปัจจุบันคืออ.เทิงจ.เชียงราย) จึงเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาในพ.ศ. 2331 รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ซ่อมสร้างเมืองน่านหลังจากที่ถูกทิ้งร้างนาน 23 ปีนับแต่นั้นมาเมืองน่านจึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ 

    จากนั้นเมืองน่านก็มีการย้ายเมืองอีก 2 ครั้งเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกในพ.ศ. 2360สมัยของเจ้าสุมนเทวราชได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้างมีวัดสถารศเป็นวัดหลวงประจำเวียงเหนือ 

     พ.ศ. 2398 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อย้ายเมืองจากดงพระเนตรช้างกลับมาอยู่ที่เวียงเก่า (ตัวเมืองน่านปัจจุบัน) แล้วโปรดให้ซ่อมสร้างเวียงเก่า โดยให้สร้างคุ้มแก้ว 7 หลัง เป็นที่ประทับ และสร้าง “หอคำ” เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯสถาปนาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯขึ้นเป็นพระเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 นับเป็นเจ้านครน่านองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้า” เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายได้แก่มหาอำมาตย์โทเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2474 นับเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านคนสุดท้ายและในพ.ศ. 2433 ได้มีพระยาพิชัยชาญฤทธิ์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก

เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ 

     จังหวัดน่านนอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำน่านแล้วยังมีพื้นที่ป่ามากถึง 6,496,231.62 ไร่คิดเป็นร้อยละ 85.45 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดโดยจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 2,781,676.12 ไร่และป่าสงวนแห่งชาติ 17 แห่ง 3,714,555.50 ไร่ 

     จึงทำให้น่านยังมีอุทยานแห่งชาติมากถึง 7 แห่งได้แก่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาอุทยานแห่งชาติขุนน่านอุทยานแห่งชาติขุนสถานอุทยานแห่งชาติแม่จริมอุทยานแห่งชาตินันทบุรีอุทยานแห่งชาติศรีน่านและอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

     ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าและน้ำประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านจึงมีอาชีพเกษตรกรโดยจังหวัดน่านมีพื้นที่ทางการเกษตรถึง 1,414,693 ล้านไร่ 16.78% เป็นนาพื้นที่ปลูกข้าว 55.54% ปลูกพืชไร่20.18% เป็นสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 7.22% คือที่ดินทางการเกษตรอื่นๆและ 0.27% เป็นที่ดินทางการเกษตรอื่นๆเช่นสวนผักไม้ดอกไม้ประดับโดยจังหวัดน่านมีรายได้จากภาคการเกษตร 8,582 ล้านบาทต่อปีนอกจากภาคการเกษตรจังหวัดน่านยังมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรม (เกี่ยวกับผ้าทอเครื่องเงินและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) 18,564,631 ล้านบาทต่อปี

    และด้วยความสวยงามของธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ป่าเขาความรุ่มรวยและเข้มแข็งทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 700 ปี จึงทำให้น่านกลายเป็นเมืองหมุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดน่านจากการท่องเที่ยวปีละไม่น้อยกว่า 2,154.85 ล้านบาท

ขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งความสุข

Smart Province

 Smart People & Smart City  

      นอกจากการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “น่าน : เมืองแห่งความสุขเศรษฐกิจสร้างสรรค์ธรรมชาติสมบูรณ์การเกษตรมั่งคั่งชุมชนเข้มแข็งท่องเที่ยวยั่งยืน” แล้วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวน่านให้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 จังหวัดน่านจึงต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมการพัฒนาและได้รับองค์ความรู้สู่การเป็นจังหวัดอัจฉริยะหรือ Smart Province อย่างสมบูรณ์แบบโดยเร่งพัฒนาเมืองให้ครอบคลุมทั้ง 7 ด้านได้แก่

1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ ดูแลสภาพอากาศ การจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเช่นเมืองเกษตรอัจฉริยะเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ 

3. ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

มุ่งพัฒนาเน้นระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศโดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลายเพิ่มความสะดวกปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)

สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้

พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

5. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

เป็นเมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ทักษะและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและการมีส่วนร่วม 

6. ดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

เป็นเมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัยและมีความสุข

7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

มีการพัฒนาระบบบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของภาครัฐมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรม 

ที่มา : เว็บไซต์จังหวัดน่าน www.nan.go.th


image รูปภาพ
image

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar